วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

พระสยามเทวาธิราชของชาวไทย

บทนำ

คนไทยทั่วไปรู้จักพระสยามเทวาธิราช พ่อแม่หรือคนเฒ่าคนแก่เคยเล่าให้ฟัง แม้ไม่ได้รู้จักอย่าง6ลึกซึ้ง แต่ก็มากพอที่จะอย่างน้อยก็รู้จักชื่อ แต่ในหมู่ผู้ที่นับถือและเลื่อมใสในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้วนรู้จักพระสยามเทวาธิราช เป็นอย่างดี (มีรูปประกอบ)

ในเวลาที่ประเทศชาติอยู่ในภาวะวิกฤติ มีปัญหาจนวุ่นวายในรูปแบบต่างๆ มีภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ มีปัญหาความไม่เข้าใจกันของคนไทยกลุ่มต่างๆ หรือในยามที่คนส่วนใหญ่ของประเทศประสบภัยพิบัติ อันตราย เรามักนึกถึง "พระสยามเทวาธิราช" ด้วยคิดว่า ความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นเกี่ยวข้องโดยตรง และอ้อนวอนว่า "ขอให้พระสยามเทวาธิราชคุ้มครอง" เป็นการแสดงออกอย่าชัดเจนว่า คนไทยล้วนเชื่อมั่นในบารมีของพระสยามเทวาธิราชโดยทั่วกันว่า ไม่ว่าประเทศชาติจะประสบภัยพิบัติอย่างไร ในที่สุดแล้วพระสยามเทวาธิราชจะช่วยเหลือให้รอดพ้น และคุ้มครองประเทศชาติและประชาชนชาวสยามให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป


 

การสงครามกับอริราชศัตรู


 

"ความเป็นชาติไทยนั้นถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อเอกราชมาครั้งแล้วครั้งเล่า"-นิรนาม (ตัวอย่าง)


 

หลังจากกรุงสุโขทัยแล้ว กรุงศรีอยุธยานับว่าเป็นราชธานีที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม มีการติดต่อกับต่างชาติ ตามหลักฐานพบว่า ในกรุงศรีอยุธยามีการพูดกันถึง ๑๒ ภาษา ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีการจัดระบบการปกครองจนเป็นปึกแผ่นแน่นหนา มีความเข็มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดถึงการเมืองซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมามีความสะดวกในการบริหารจัดการเพราะอยุธยาได้กลายเป็นศูนย์กลางกรุงศรีอยุธยาได้พัฒนาในทุก ๆ ด้านมาโดยลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงจัดระบบการปกครอง ให้เป็นปึกแผ่น เข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นรากฐาน ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาได้พัฒนาต่อไปตามลำดับมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราชทรงปรับปรุงด้านการทหาร รวบรวมหัวเมืองอิสระน้อยใหญ่มาอยู่ในอำนาจของ อาณาจักรอยุธยา ทำสงครามกับลานนายึดเมืองเชียงใหม่ได้ ในห้วงเวลาเดียวกันมอญ ได้ถูกพม่ารุกรานจนต้องตกอยู่ในอำนาจของพม่า ซึ่งกำลังทำสงคราม แผ่อาณาจักรอยู่ มีมอญส่วนหนึ่งจากเมืองเชียงกราน หนีพม่าเข้ามาพึ่งไทย

พม่าจึงยกกองทัพเข้ายึดเมืองเชียงกรานไว้ได้ สมเด็จพระชัยราชาธิราช จึงทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงกรานกลับคืนมาได้ เป็นการเปิดฉากการสงครามระหว่างไทยกับพม่านับแต่นั้นมา พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาสมัยพระมหาจักรพรรดิ ได้มีการต่อสู้กันที่ทุ่งภูเขาทองจนสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๑๑๒ แต่อีก ๑๕ ปีต่อมา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงสามารถกอบกู้เอกราชกลับมาได้ โดยทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อปี พ.. ๒๑๒๗ พระองค์ได้ทรงทำสงคราม เพื่อความเป็นปึกแผ่นของชาติไทยตลอดพระชนมายุของพระองค์ ทำให้อาณาจักรอยุธยาแผ่ไปอย่างกว้างขวาง เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ เป็นหนึ่งในสุวรรณภูมิ

การสงครามครั้งสำคัญคือสงครามยุทธหัตถี ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา ที่ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้พม่าไม่กล้ายกกองทัพมารุกรานไทย เป็นระยะเวลาเกือบ ๒๐๐ ปี ทางด้านตะวันออก พระองค์ก็ได้ทรงปราบปรามกัมพูชา ที่คอยถือโอกาสซ้ำเติมในยามไทยเราอ่อนแอ หรือเวลามีศึกสงครามทางด้านอื่น

ไทยมาเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นการเสียกรุงอย่างย่อยยับที่สุด ในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะพม่าได้เผาผลาญทำลายทุกสิ่งทุกอย่างโดยสิ้นเชิง บ้านเมือง วัดวาอาราม ปราสาทราชวัง ถูกทำลายลงสิ้น ผู้คนที่อพยพหนีพม่า เข้ามาอยู่ในเมืองประมาณหนึ่งแสนคนเศษ ถูกพม่าฆ่าตายมากกว่าครึ่ง ที่เหลือก็ถูกกวาดต้อน นำไปเมืองพม่า ถูกกระทำทารุณต่างๆ นานา ได้รับความยากแค้นแสนสาหัส ทรัพย์สินของมีค่าต่างๆ ถูกนำกลับไปพม่านับประมาณมิได้

กรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด หมดสภาพที่จะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ได้ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงศรีอยุธยา ที่ว่างศึกสงครามมานานนับศตวรรษ ผู้คนมีความเป็นอยู่อย่างสนุกรื่นเริง ดังปรากฏในเพลงยาวรบพม่า พระราชนิพนธ์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทว่า "ทั้งพิธีปีเดือนคืนวัน สารพันจะมีอยู่อัตรา ฤดูใดได้เล่นเกษมสุข แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา" ก็ถึงแก่กาลแตกดับอย่างไม่คาดผัน กลายเป็น "ไม่เห็นเช่นว่าจะเป็นถึงเพียงนี้ มายับเยินอัปรีย์ศรีศักดิ์คลาย"
"มาวินาสสิ้นสุดสูญหาย สารพัดย่อยยับกลับกลาย อันตรายไปทั่วพื้นปฐพี"

เมื่อมีเกิดก็มีดับ กรุงศรีอยุธยาดำรงความเป็นราชธานีไทย ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองจนล่วงมาถึง สมัยพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นระยะเวลา ๔๑๗ ปี นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๑๘๙๔ ถึง ปี พ.ศ.๒๓๑๐ ก็ถึงกาลล่มสลายอย่างย่อยยับด้วยความอ่อนแอของคนไทยเราเอง บทกวีบางตอนของท่านสุนทรภู่ในนิราศพระบาทคงสะท้อนสภาพของกรุงศรีอยุธยาได้ดี ดังนี้


 

"ดูปราสาทราชวังเป็นรังกา

ดังป่าช้าพงชัฏสงัดคน


 

อนิจจาธานินสิ้นกษัตริย์

เหงาสงัดเงียบไปดังไพรสณฑ์

แม้กรุงยังพรั่งพร้อมประชาชน

จะสับสนแซ่เสียงทั้งเวียงวัง"


 

"ดูพาราน่าคิดอนิจจัง

ยังได้ฟังแต่เสียงสกุณา"


 

    แม้อยุธยาได้ล่มสลายอย่างย่อยยับไปแล้วอย่างไม่อาจฟื้นฟูได้อีก แต่ด้วยความเด็ดเดี่ยวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ได้ทำศึกขับไล่พม่าจนพ้นไปจากแผ่นดินไทย และรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ประเทศสยามกลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

    มาในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ประเทศตะวันตกได้แผ่อิทธิพลมาทางตะวันออกประเทศต่างๆ ตกเป็นเมืองขึ้นทั้งหมด แต่ด้วยบารมีของเทวดาที่คุ้มครองประเทศไทยจึงรอดพ้นจากภัยอีกครั้ง ดังพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าพูนพิสมัย ดิสกุลว่า

    ตอนมหาอำนาจทางตะวันตกทำการเปิดประตูค้ากับพวกตะวันออกในระยะเวลาต้นๆ ศตวรรษที่ ๑๙ ของคริสต์ศักราชนั้น พวกเมืองข้างเคียงไม่รู้ทันเหตุการณ์ภายนอกว่า ทางตะวันตกมีอำนาจปืนเรือพอที่จะเอาชนะได้อย่างง่ายดาย จึงพากันไม่ยอมทำสัญญาด้วย ซ้ำยังขับไล่ ใช้อำนาจจนเกิดเป็นสงครามขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่คนมีแต่มีดจะต้องแพ้ผู้มีปืน แล้วถูกเป็นเมืองขึ้นไปโดยสะดวก ฝ่ายทางเมืองไทยเรานั้นมหาอำนาจตกลงกันให้อังกฤษมาเป็นผู้เปิดประตูทำสัญญาค้าขาย ซึ่งตามที่จริงก็เคยมีไมตรีกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่เมื่อบ้านเมืองมีเหตุการณ์ศึกสงครามเกิดขึ้นชาวต่างประเทศไปมาค้าขายไม่สะดวกได้ ก็จำต้องหยุดการติดต่อกันไปเป็นพักๆ การเป็นเช่นนี้แก่ทุกบ้านทุกเมือง ฉะนั้น เมื่อเสร็จศึกกับพม่าในรัชกาลที่ ๑ แล้ว ถึงรัชกาลที่ ๒ ชาวโปรตุเกสก็เข้ามาจากเมืองมาเก๊า เพื่อขอทำสัญญาค้าขายใน พ.ศ. ๒๓๖๓ โปรดเกล้าฯ ให้รับสัญญาเพราะเรายังต้องการซื้อปืนไฟจากชาวตะวันตกอยู่ต่อมาอีก ๒ ปี มิสเตอร์ จอน ครอเฟิต (John Grawford) ทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญาจากผู้สำเร็จราชการอินเดียใน พ.ศ. ๒๓๖๕

    ถึงรัชกาลที่ ๓ อังกฤษเกิดรบกันขึ้นกับพม่าเป็นครั้งแรก ครั้นชนะแล้วจึงให้กัปตันเฮนรี่ เบอร์เนย์ (Henry Burney) เข้ามาทำสัญญาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ ทูตอเมริกัน มิสเตอร์ เอ็ดมอนด์ โรเบิด (Edmond Robert) เข้ามาทำสัญญาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ มิสเตอร์ริดชัน (Ridson) ทูตอังกฤษเข้ามาทำสัญญาขอซื้อช้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ และเซอร์เจมส์ บรู้ค (Sir Jame Brooks) ผู้เคยเป็นรายา (White Raja) ผู้ครองเกาะซาราวัค (Sarawak) เข้ามาขอทำสัญญาอีกเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๓ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต รวมทูตอังกฤษที่เข้ามาทำสัญญากับเมืองไทยถึง ๔ ครั้ง แต่ก็ได้ทำแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นเรื่องผ่านแดนไทยกับพม่า และสัญญาซื้อขายช้าง ม้า และแลกเปลี่ยนสินค้าบางอย่างไม่ได้ทำสัญญากับเมืองไทยโดยตรงอย่างเมืองอื่นๆ ส่วนทางเมืองไทยก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าจะมีผู้ใดจะเกะกะทางนี้ได้ บางคนนึกเลยไปว่าเหล็กจะลอยน้ำได้อย่างไร ในเมื่อมีใครมาเล่าว่าทางมหาอำนาจตะวันตกนั้นมีเรือรบที่ทำด้วยเหล็ก ไทยจึงไม่เต็มใจจะเปิดประตูค้ากับผู้ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่รับข้อที่จำเป็นในเวลานั้นเท่านั้น แต่ในที่สุดเราก็ได้พบรายงานของเซอร์เจมส์ บรู๊ค ผู้ซึ่งเข้ามาครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ ๓ ว่า

    พระเจ้าแผ่นดินกำลังเสด็จอยู่บนพระแท่นสวรรคต และพระองค์ที่จะทรงเสวยราชย์ใหม่ก็มีหวังจะพูดกันได้เรียบร้อย ฉะนั้น จึงขอรอการใช้กำลังบังคับไว้ก่อน

    ตามรายงานนี้เห็นได้ชัดว่า เขาเตรียมจะใช้กำลังกับเราอยู่แล้ว เผอิญให้เกิดมีการสวรรคตและเปลี่ยนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นมาเสวยราชย์ในเวลาที่ทรงทราบเหตุการณ์นอกประเทศดีอยู่ เพราะทรงมีเวลาศึกษาเพียงพอ ในเวลาที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุถึง ๒๗ ปี พอเสวยราชย์ได้ ๔ ปี เซอร์จอน โบว์ริง (Sir John Bowring) เจ้าเมืองฮ่องกง ก็มีจดหมายส่วนตัวเข้ามากราบทูลว่า คราวนี้ตัวเขาจะเข้ามาเป็นราชทูตแทนพระองค์ควีนวิคตอเรีย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงทูตมาจากผู้สำเร็จราชการอินเดีย เช่นคนก่อนๆ เพราะฉะนั้นจึงหวังว่าจะไม่มีเรื่องเดือดร้อนถึงต้องขัดใจกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข้อไขอันนี้ดี จึงเปิดประตูรับในฐานะมิตรและเป็นผลให้เราได้พ้นภัยมาได้แต่ผู้เดียวในทางตะวันออกประเทศนี้"

    เหตุการณ์ข้างต้นดูเป็นเรื่องที่ประเทศไทยประสบกับสิ่งร้ายๆ ที่เข้ามาจากภายนอกในช่วงเวลาหลายยุค แต่สถานการณ์ก็คลี่คลายไปได้ ส่วนที่จะกล่าวต่อไปเป็นเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยโดยไม่มีการสูญเสียอย่างบ้านเมืองอื่น แต่เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนคนไทยต้องจดจำและยึดถือเป็นอุทาหรณ์สอนใจ

เหตุการณ์แรกในปี พ.ศ.๒๔๗๕ สังคมไทยเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญอีกครั้ง มีกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฏร์ นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมบุคคลสำคัญที่ได้รับแนวคิดประชาธิปไตยมาจากประเทศตะวันตก ดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบประชาธิปไตยอย่างประเทศตะวันตก

    เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลกในยุคก่อนหน้าและยุคเดียวกัน สิ่งที่คล้ายๆ กันของประเทศเหล่านั้นมักมีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนมากมาย เพราะเป็นการล้มล้างระบบเก่าซึ่งมีอายุมายาวนาน ความคิดและความเชื่อของคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอำนาจอยู่เดิมมักเชื่อว่าบ้านเมืองดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบที่มีอยู่ ผู้ที่คิดหรือดำเนินการเปลี่ยนแปลงนี้จึงต้องเอาชีวิตเข้าแลก โดยหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้ยาก ประวัติการต่อสู้ของประชาชนและผู้มีอำนาจในประเทศต่างๆ จึงมักปรากฏคู่กับความสูญเสียในหลากรูปแบบ เช่น การทารุณ การเข่นฆ่าผู้แพ้ การจองจำที่เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหด เป็นต้น มีอนุสาวรีย์อยู่ทั่วโลกที่แสดงถึงการต่อสู้ในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ พร้อมกับความความทุกข์ทรมาน ความทรงจำที่เจ็บปวดและยากจะลืมของคนในสังคม

    แต่ในการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของไทยในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ไม่มีการสูญเสียเหมือนประเทศอื่น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงอยู่เป็นมิ่งขวัญของประชาวชนชาวไทยสืบมา ในขณะที่สังคมไทยก็มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีส่วนร่วมทางการเมืองจนปัจจุบัน

    เหตุการณ์ที่สองและสาม ในปี ๒๕๑๖ และ ๒๕๑๙ หรือที่รู้จักกันว่า "ตุลาเลือด" นิสิตนักศึกษาและประชาชนได้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย แต่รัฐบาลในสมัยนั้นเลือกใช้วิธีปราบปรามอย่างรุนแรง การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของสังคมไทยในครั้งนั้นถือว่ามากมาย เนื่องจากเหตุการณ์สืบเนื่องต่อกันจากปี ๒๕๑๖ ถึง ๒๕๒๓ ที่ทางรัฐบาลมีนโยบายนิรโทษกรรม

    ถ้าหากเทียบดูเหตุการณ์แบบเดียวกันในประเทศต่างๆ เราคงเห็นร่วมกันว่า บ้านเมืองของเรานั้นไม่เหมือนที่ใดในโลก ในบ้านเมืองอื่นถ้ามีความรุนแรงขนาดนั้นไม่มีทางที่ฝ่ายใดจะยอมกัน ประเทศต้องถูกแบ่งออกเป็นซีก หรือไม่ก็ต้องสู้รบกันไปอย่างยาวนาน ดังหลายประเทศที่มีสงครามกลางเมืองในสมัยนั้นจนบัดนี้ก็ยังไม่เลิก หรือไม่ก็ได้แบ่งเป็นสองประเทศไปเรียบร้อยแล้ว

    แต่สำหรับประเทศไทยเหตุการณ์ครั้งนั้น ถึงจะรุนแรงที่สุดสำหรับเหตุการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ ก็ไม่ได้สูญเสียขนาดต้องแบ่งประเทศเป็นสองซีก หลังปี ๒๕๒๓ สถานการณ์ของบ้านเมืองกลับคืนเป็นปกติ

    ในบางประเทศใช้เวลาหลายปีในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองและมีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก จนเกิดวรรคทองเหมือนๆ กันว่า "ด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชน"

    ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองญี่ปุ่นใช้กำลังทหารเป็นจำนวนมากเข้ายึดครองประเทศต่างๆ ในเอเชีย ประเทศเหล่านั้นมีผู้คนล้มตายมากมาย ประชาชนอดอยากเป็นประวัติการณ์ สำหรับประเทศไทยเป็นช่วงที่นายควง อภัยวงษ์เป็นนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นไม่ไว้วางใจประเทศไทยและเตรียมส่งทหารเป็นจำนวนมากเข้ายึดประเทศไทยเต็มอัตราศึกเหมือนที่เข้ายึดประเทศอื่น โดยที่กองกำลังส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นได้เข้าตีที่จังหวัดระนองแล้ว แต่ด้วยความชาญฉลาดของคณะเสรีไทยที่ได้ติดต่อในทางลับกับประเทศตะวันตกที่เป็นศัตรูกับญี่ปุ่นซึ่งนำโดยท่านปรีดี พนมยงค์ และนายควง อภัยวงษ์ที่ออกรับหน้ากองทัพญี่ปุ่น ที่สำคัญผู้บัญชาการทหารของญี่ปุ่นชื่อนายพลนากามูรา ที่มาประจำการที่ประเทศไทย เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดและเห็นใจประเทศไทยที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา การรบพุ่งระหว่างญี่ปุ่นกับไทยจึงไม่เกิดขึ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องถูกยึดครองอย่างประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน

เหตุการณ์สำคัญข้างต้นหากนึกย้อนกลับไปทุกคนคงนึกถึงความสูญเสีย นึกถึงชะตากรรมของคนไทยในอดีตที่ต้องทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส แต่ในขณะเดียวกันก็นึกถึงประเทศชาติที่อยู่รอดมาได้ว่า คงเป็นเพราะแผ่นดินนี้มีเทวดาคุ้มครอง และทุกคนก็นึกถึงพระสยามเทวาธิราช เทวดาผู้เป็นประธานสิ่งศักดิ์ที่พิทักษ์รักษาประเทศไทย

    พระสยามเทวาธิราชจึงมีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย ดังจะเห็นได้ว่า ในพระราชพิธีสำคัญๆ หรืองานพิธีที่รัฐบาลจัดขึ้นจึงมักเอ่ยพระนามพระสยามเทวาธิราชอยู่เสมอ หรือบางพระราชพิธีก็มีการพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชขึ้นด้วย เช่นในการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้การจัดงานในภาคประชาชนก็มักเอ่ยนามของพระสยามเทวาธิราชเพื่อขอบารมีให้พิทักษ์รักษาประเทศชาติและประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนของประชาชนได้มีการจัดทำเทวรูปสัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราชเพื่อสักการบูชากันโดยทั่วไป

    ในหนังสือเล่มนี้ผู้เรียบมุ่งเสนอฐานะและความหมายของพระสยามเทวาธิราช    


 

ศาสนา-ความเชื่อ

สัญลักษณ์ทางศาสนาเป็นการนำเอาเหตุผลกับอารมณ์ความรู้สึกมาผนวกเข้าด้วยกัน หรือทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน สัญลักษณ์ทางศาสนามีพลังในเบื้องแรกจากการก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เข้มข้นรุนแรงในประสบการณ์การมีชีวิตอยู่ ความรู้สึกเช่นนี้อาจจะเป็นความกลัว ความประหวั่นพรั่นพรึง ความทุรนทุราย ความปีติที่ได้สัมผัสกับสิ่งที่สูงส่งงดงามที่สุด ความรู้สึกและอารมณ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่มีเชื้องอยู่ในใจของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว แต่จะต้องได้รับการเสริมแรงให้หนักแน่นขึ้นด้วยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมบางอย่าง ดังนั้นในบางวัฒนธรรมแล้วอารมณ์บางอารมณ์จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกกระตุ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยสัญลักษณ์บางอย่าง ซึ่งจะถูกนำมาแสดงหรือตอกย้ำด้วยวิธีการต่างๆ และความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นอันรุนแรงนี้จะมีผลเชื่อมโยงกับการกระทำกล่าวคือก่อให้เกิดแรงจูงใจที่จะผลักดันให้มีการกระทำในบางรูปแบบ ที่สอดคล้องกับความรู้สึกของสัญลักษณ์ได้ แรงจูงใจเช่นนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่มิอาจเหนี่ยวรั้งได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลต่ออารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ไม่ยากนัก คำอธิบายดังกล่าวมักจะแสดงตำแหน่งแห่งที่ของมนุษย์ในจักรวาล และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งต่างๆ คำอธิบายจะเป็นเครื่องรองรับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่า ความรู้สึกนั้นเป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียกันคำอธิบายก็ถูกทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องของประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละบุคคลมิใช่คำอธิบายที่เลื่อนลอยปราศจากรากฐานของชีวิตจริง สัญลักษณ์ทางศาสนามีความหมายที่ประณีตซับซ้อนละเอียดอ่อน ด้านหนึ่งสร้างอารมณ์ความรู้สึกและแรงจูงใจที่กว้างขวางหลากหลาย ในอีกด้านหนึ่งสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับการมองโลกหรือโลกทัศน์ สัญลักษณ์จึงให้ทั้งสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกและคำอธิบายที่มีเหตุมีผล ทั้งสองส่วนนี้จึงเสริมซึ่งกันและกันทำให้สัญลักษณ์เป็นสิ่งที่มีพลัง สามารถสะกดคนให้อยู่ในอำนาจได้

สัญลักษณ์ทางศาสนาในฐานะที่เป็นระบบสัญลักษณ์มีแบบแผนทางวัฒนธรรม บางอย่างของการเกิดและการดำรงอยู่ในสังคม กล่าวคือ เป็นทั้งแม่แบบที่ก่อให้เกิดบรรยากาศทางความรู้สึกและโลกทัศน์ในสังคม และเป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมออกมาจากบรรยากาศทางความรู้สึกและโลกทัศน์นั้นๆ ด้วย สัญลักษณ์จึงเป็นทั้งเหตุและผลในเวลาเดียวกัน ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบสัญลักษณ์กับสังคมจะเป็นทั้งการดึง หรือหยิบยกเอาเรื่องราวที่เด่นๆ ในความรู้สึกและโลกทัศน์ของสังคมวัฒนธรรมนั้นๆ มาใช้สื่อสารกัน ในขณะเดียวกันก็จะเป็นกรสร้างเรื่องราวเช่นนั้นขึ้นมาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า สัญลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ถูกสร้างขึ้นมาครั้งเดียวแล้วใช้ได้ตลอดไป แต่เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวโต้ตอบกับความเป็นไปภายในสังคมอยู่ตลอดเวลา

สัญลักษณ์ทางศาสนาในฐานะที่เป็นระบบสัญลักษณ์มีแบบแผนพิธีกรรมที่ทำให้คนเกิดการยอมรับ เห็นคล้อยตามและเกิดความศรัทธา แบบแผ่นนี้มีลักษณะเด่นตรงที่ว่าการที่คนเราจะยอมรับความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง จนซึมซับเข้าไปในหัวใจได้นั้น มักจะไม่ใช่การคิดไตร่ตรองด้วยเหตุผล แต่เป็นการสร้างการยอมรับในเบื้องแรกโดยอาศัยสิ่งซึ่งมีลักษณะเป็นภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้น รูปสลัก ภาพ อาคาร สิ่งของ ซึ่งใช้สืบทอดกันมาจนเป็นประเพณี นอกจากนั้นยังมีกระบวนการปฏิบัติต่างๆ เช่น คำพูด การสวดมนต์ การกราบไหว้ ทั้งในพิธีกรรมและในชีวิตประจำวัน ที่ทำให้ภาพเหล่านี้ถูกปลูกฝังเข้ามาในความสำนึกของคนอย่างแนบแน่น

สัญลักษณ์ทางศาสนาจึงประกอบไปด้วยองค์ประกอบ ๒ ส่วน คือ แม่แบบของความจริง และแม่แบบสำหรับความจริง องค์ประกอบทั้งสองส่วนนี้ต่างส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อทำให้สัญลักษณ์มีความหมายสมบูรณ์

พระสยามเทวาธิราชก็ประกอบไปด้วยสองส่วน คือ ระบบความคิด ความเชื่อเกี่ยวกับพระสยามเทวาธิราช และเทวรูปสัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราช ทั้งสองส่วนต่างส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อจะทำให้สัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราชมีความความสมบูรณ์

ตามแนวคิดของนักมานุษยวิทยานั้น สัญลักษณ์ทางศาสนานั้นมีคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ

  1. เป็นการนำเอาเหตุผลกับอารมณ์ความรู้สึกมาผนวกเข้าด้วยกันหรือทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน
  2. มีแบบแผนบางอย่างของการเกิดและการดำรงอยู่ในสังคม
  3. มีแบบแผนพิธีกรรมที่ทำให้เกิดการยอมรับ เห็นคล้อยตามและเกิดความศรัทธาเชื่อมั่น

    เชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชก็มีคุณสมบัติเด่นๆ ๓ ประการ คือ

  4. เป็นการนำเอาเรื่องอิสรภาพและความอยู่รอดของประเทศชาติและสังคมไทย ผนวกเข้ากับความคิดความเชื่อเรื่องพระสยามเทวาธิราชเทวดาใหญ่รักษาแผ่นดินไทย
  5. เกิดมาจากความคิดความเชื่อของรัชกาลที่ ๔ ในเรื่องเทวดาใหญ่รักษาแผ่นดินไทย สัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราชจึงมีความเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดและความเป็นไปของประเทศชาติและสังคมไทยอยู่ตลอดเวลา
  6. มีพิธีบวงสรวงประจำวัน พระราชพิธีบวงสรวงประจำปี และพระราชพิธีบวงสรวงในวโรกาสพิเศษอื่นๆ เป็นตัวสร้างความสืบเนื่องของการยอมรับและความเชื่อถือศรัทธาในสัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราช


     


     

        
     

        

คำนำสำนักพิมพ์


 

ชาติบ้านเมืองมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์รักษา คอยคุ้มครองป้องกันมิให้มีอันตรายคนไทยเรานับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายอย่าง เราเชื่อกันมาแต่โบราณแล้วว่า บ้านเมืองอยู่รอดมาได้จนเพราะพลังบารมีของสิ่งศักดิ์เหล่านี้

พระสยามเทวาธิราชเป็นสิ่งศักดิ์คู่บ้านคู่เมืองที่คนไทยเราเคารพ นับถือ มีหน้าที่พิทักษ์รัฐสยาม อำนวยความมั่งคั่งและความร่มเย็นเป็นสุขให้บังเกิด สนับสนุนคนดีให้มีกำลังใจ บั่นทอนสิ่งชั่วร้ายให้พินาศ

ยามบ้านเมืองเราไม่ปกติ เกิดความวุ่นวาย ประชาชนขาดขวัญกำลังใจ คนไทยเราไม่เคยโดดเดี่ยว สิ่งชั่วร้ายแสดงอำนาจได้เพียงชั่วคราว แต่สุดท้ายพลังบารมีของพระสยามเทวธิราชจะดลใจให้สุจริตชนทั้งหลายมีกำลังใจต่อสู้สิ่งร้าย ร่วมมือกันกอบกู้วิกฤติ สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดในบ้านเมือง

เพราะพระสยามเทวาธิราชคือความดีงามของบ้านเมืองที่สะสมส่งทอดมาหลายยุคหลายสมัยจนหลอมรวมเป็นบารมีศักดิ์สิทธิ์ เป็นพลังแข็งแกร่งของแผ่นดิน คอยพิทักษ์บ้านเมืองให้บังเกิดความสงบสุขเป็นที่สำราญแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า

สำนักพิมพ์บ้านหนังสือโกสินทร์นำเสนอเรื่องพระสยามเทวาธิราชนี้ด้วยความเชื่อมั่นว่า แรงใจของทุกคนที่ทำงานเพื่อบ้านเมืองจะหลอมรวมเป็นพลังศักดิ์สิทธิ์ กำจัดสิ่งชั่วที่มุ่งร้ายต่อบ้านเมืองให้พินาศ และรักษาสันติสุขให้คงอยู่ตลอดไป

คำนำผู้เขียน


 

ชาติบ้านเมืองเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใครก็ตามที่แม้เพียงแต่คิดจะยึดถือเป็นของตน หรือพวกพ้องเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ไม่ว่าจะโดยวิธีใด จะพบกับความพินาศในที่สุด พระสยามเทวาธิราชจะปกป้องคุ้มครองชาติบ้านเมืองเสมอ และจะสาปแช่งคนไม่ดีให้มีอันต้องตกทุกข์ได้ยากอย่างแสนสาหัสตลอดชีวิต

พระสยามเทวาธิราชนั้นท่านมีหน้าที่โดยตรงในการพิทักษ์รักษาชาติ บ้านเมือง ดูแลประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข บันดาลความยุติธรรม สร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่างอันจำเป็นสำหรับชีวิตไว้พร้อมแล้วในแผ่นดินนี้ คนทุกหมู่เหล่าสามารถมีความสุขได้ตามกำลังแห่งตนตราบที่ยังประกอบสัมมาชีพ เป็นพลเมืองดี และรู้จักตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน

บางครั้งแม้ดูเหมือนว่า บ้านเมืองไม่มีขื่อแป คนดีถูกรังแก การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างลำบาก คนดีสิ้นหวัง แต่ในที่สุดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองก็จะล้างผลาญสิ่งชั่วร้าย เกื้อหนุนคนดีให้มีกำลังใจ โอกาสของผู้ขยันและซื่อสัตย์บนแผ่นดินไทยจึงมีอยู่เสมอ

คนชั่วไม่มีทางอยู่เป็นสุขในแผ่นดินนี้เพราะจะต้องถูกสาปแช่งจากพระสยามเทวาธิราชจนมีอันเป็นไปอย่างทุกข์ทรมานชั่วลูกชั่วหลาน บางเวลาที่กฎหมายมีช่องโหว่ คนชั่วพวกนี้ก็อาจหลงระเริงไปว่า ตนเองมีอำนาจ พร้อมทั้งเงินทุนเหนือใคร และมั่นใจว่าไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าตนและพรรคพวก จึงรวมหัวกันหาผลประโยชน์ใส่ตัว โกงบ้านโกงเมืองอย่างลึกลับซับซ้อน เกิดความเสียหายไปทั่ว สุจริตชนคนดีได้แต่เอือมระอา โดยเฉพาะเมื่อเห็นคนเหล่านี้เดินลอยคอเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมประหนึ่งว่า มีเกียรติเสียเหลือเกิน สาธุชนได้แต่มองหน้ากันอย่างสิ้นหวัง รู้สึกหมดศรัทธาต่อหลักความดีงามของบ้านเมืองที่สั่งสอนกันมานาน

แต่กรรมมีกฎอันอมตะอยู่ว่า ใครทำสิ่งใดไว้ผลก็จะออกมาอย่างนั้น กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว กรรมดีย่อมให้ผลดี

คนชั่วช้าพวกนี้ลอยคออยู่ได้ไม่นานก็จะมีอันเป็นไปอย่างแสนสาหัสสมควรแก่กรรมที่ก่อไว้ทุกกรณี เราเพียงแต่รู้สึกไปเท่านั้นเองว่า คนเหล่านี้ทำชั่วแล้วได้ดี พระสยามเทวาธิราชไม่เคยปล่อยให้คนพวกนี้ลอยคออยู่ได้นาน ซึ่งเราก็เห็นๆ กันอยู่ว่า ในที่สุดแล้วคนพวกนี้ต้องพินาศแน่นอน

เรื่องพระสยามเทวาธิราชที่เรียบเรียงขึ้นครั้งนี้เป้าหมายประการแรกต้องการให้ตระหนักร่วมกันว่าบ้านเมืองของเรามีพระสยามเทวาธิราชดูแลรักษา อย่างที่สอง ต้องการให้ผู้อ่านได้รู้จักเทวดาใหญ่ที่รักษาแผ่นดินไทยอย่างละเอียดถึงความหมาย ฐานะ บทบาทที่มีต่อสังคมไทย ประการที่สามต้องการให้คนดีของบ้านเมืองได้ทราบว่า เมื่อตั้งใจสร้างความดีเพื่อบ้านเมืองแล้วอย่าได้ท้อแท้ เพราะพระสยามเทวาธิราชท่านรู้เห็นความดีที่ทุกคนทำมาแล้ว และกำลังทำเพื่อบ้านเมือง ท่านเป็นพลังใจให้กับทุกคน ท่านเป็นพลังของแผ่นดิน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ในที่สุดแล้วจะผ่านพ้นไปด้วยดี ขอให้เข้าใจว่า พลังแห่งความดีของเราทุกคนที่ทำงานเพื่อบ้านเมืองจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพลังศักดิ์สิทธิ์ของพระสยามเทวาธิราชคอยคุ้มครองบ้านเมืองให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง

ขอบคุณแหล่งข้อมูลอันเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ คณะทำงานของสำนักพิมพ์บ้านหนังสือโกสินทร์ทุกคนที่ช่วยกันจนออกมาเป็นรูปเล่มที่สวยงามนี้

บุญกุศลใดๆ อันเกิดจากหนังสือเล่มนี้ขอให้หลอมรวมเป็นพลังใจต่อต้านสิ่งชั่วทั้งปวงที่มุ่งร้ายต่อบ้านเมือง และเป็นบารมีธรรมคุ้มครองผู้อ่านให้อยู่เย็นเป็นสุขในขอบขัณสีมาแห่งสยามนี้เทอญ.